บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา (ก.ต.ป.น.)

ทำเนียบ ก.ต.ป.น.

(คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา)
สพป. นครราชสีมา เขต 1

ความหมายของ ก.ต.ป.น.

ก.ต.ป.น. ย่อมาจากคำว่า คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา หมายถึง องค์คณะ บุคคลที่มีบทบาท อำนาจหน้าที่ ในการบริหารงานวิชาการในระดับเขตพื้นที่การศึกษาตามที่กฎหมายกำหนดโดยมีองค์ประกอบของคณะกรรมการ ทั้งในส่วนของเขตพื้นที่การศึกษา ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานกรรมการ ตัวแทนผู้บริหารสถานศึกษาในสังกัด และผู้ทรงคุณวุฒิภายนอก ทำงานร่วมกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ในการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย นิเทศติดตามตรวจสอบและประเมินผลการบริหารและการดำเนินการ โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเตรียมรับการนิเทศ ติดตามตรวจสอบ และประเมินผลจากหน่วยงานภายนอกซึ่งเป็นองค์คณะที่เป็นหนึ่งเดียวที่ยังเหลืออยู่ในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาในขณะนี้

การตรวจสอบ (Inspection) หมายถึง การกำกับ ดูแล เพื่อปรับปรุงพัฒนาการบริหารการจัดการศึกษาและดำเนินไปตามมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้

การประเมินผล (Evaluation) หมายถึง การตีค่าผลการบริหารการจัดการศึกษา และดำเนินไปตามมาตรฐาน การศึกษาขั้นพื้นฐานที่กำหนดไว้ โดยเปรียบเทียบกับเกณฑ์และเป้าหมายที่กำหนดไว้

การนิเทศการศึกษา (Supervision) หมายถึง ความร่วมมือระหว่างเขตพื้นที่การศึกษา และสถานศึกษาในสังกัด กับคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินและ นิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา โดยการให้คำปรึกษา แนะนำ ส่งเสริม สนับสนุนเพื่อปรับปรุงพัฒนา


คณะกรรมการ ก.ต.ป.น. มีจำนวน ๙ คน ประกอบด้วย

(๑) ผู้อำนวยการสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา เป็นประธานกรรมการ

(๒) กรรมการที่เป็นผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของรัฐ จำนวนหนึ่งคน

(๓) กรรมการที่เป็นผู้แทนผู้บริหารสถานศึกษาขั้นพื้นฐานของเอกชน จำนวนหนึ่งคน

(๔) กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ จำนวนห้าคน ซึ่งแต่งตั้งจากผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ ความเชี่ยวชาญและประสบการณ์สูงในด้านการศึกษาปฐมวัย ด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ด้านการวิจัยและประเมินผลด้านการบริหารการศึกษา ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม ด้านใดด้านหนึ่งหรือหลายด้านรวมกัน

(๕) หัวหน้ากลุ่มนิเทศ ติดตาม และประเมินผลการจัดการศึกษา เป็นกรรมการและเลขานุการ


 บทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา (ก.ต.ป.น.)

๑. ส่งเสริม สนับสนุน ให้มีการนำมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มากำหนดเป็นแนวทางในการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการบริหารและการดำเนินการของหน่วยงานและสถานศึกษา ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา

๒. กำหนดแนวทางการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย การบริหารและ การดำเนินการของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา

๓. พิจารณาแผนการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษา โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา

๔. ติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการบริหารและการดำเนินการตามแผน ที่กำหนด

๕. รับทราบผลการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการบริหารและ การดำเนินการและให้ข้อเสนอแนะเพื่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

๖. ส่งเสริมให้มีการประสานการดำเนินการกับคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง


อำนาจหน้าที่ ก.ต.ป.น. ที่ได้แก้ไขตามระเบียบกระทรวงศึกษาธิการว่าด้วยการตรวจราชการ การติดตาม ตรวจสอบ และ ประเมินผลการจัดการศึกษา พ.ศ. ๒๕๖๐ 

ส่วนที่ ๔ การติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลและนิเทศการศึกษา ระดับเขตพื้นที่การศึกษา 

การติดตาม ประเมินผลและนิเทศการศึกษาระดับเขตพื้นที่การศึกษา เป็นการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย นิเทศ ติดตาม และประเมินผลการบริหารและการดำเนินการโดยมุ่งผลสัมฤทธิ์ ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา เพื่อเตรียมการรับการนิเทศติดตาม และประเมินผลจากหน่วยงานภายนอก ให้คณะกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่ การศึกษา (ก.ต.ป.น.) ตามกฎกระทรวงว่าด้วยการ กำหนด จำนวน หลักเกณฑ์ และวิธีการได้มา ของคณะกรรมการติดตามตรวจสอบ ประเมินผล และนิเทศการศึกษาของเขตพื้นที่การศึกษา พ.ศ.๒๕๔๘ มีอำนาจหน้าที่ ดังต่อไปนี้

(๑) ส่งเสริม สนับสนุนให้มีการนำมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐาน มากำหนดเป็นแนวทาง ในการติดตาม ประเมินผลและนิเทศการบริหารและการดำเนินการของหน่วยงานและสถานศึกษา ในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา

(๒) กำหนดแนวทางการศึกษา วิเคราะห์ วิจัย การบริหารและการดำเนินการของหน่วยงาน และสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา

(๓) พิจารณาแผนการติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลและนิเทศการศึกษา โดยมุ่งเน้นผลสัมฤทธิ์ของหน่วยงานและสถานศึกษาในสังกัดเขตพื้นที่การศึกษา

(๔) ติดตาม ประเมินผลและนิเทศการบริหารและการดำเนินการตามแผนที่กำหนด

(๕) รับทราบผลการติดตาม ประเมินผลและนิเทศการบริหารและการดำเนินการตามแผน และให้ข้อเสนอแนะ เพื่อการปรับปรุงและพัฒนาคุณภาพการศึกษาอย่างต่อเนื่อง

(๖) ส่งเสริมให้มีการประสานงานการติดตาม ประเมินผล และนิเทศการศึกษา กับคณะกรรมการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(๗) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการจัดการศึกษาตามความจำเป็น

(๘) ปฏิบัติงานอื่นใดตามที่ได้รับมอบหมาย